5 เรื่องประกันสังคม ที่นายจ้างต้องรู้
ประกันสังคม คือ สวัสดิการขั้นพื้นฐานที่ทางรัฐบาลมอบให้แก่ลูกจ้าง โดยระบบประกันสังคมนั่นคือมีในประเทศไทยมาตั้งแต่เมื่อปี พ.ศ. 2480 และเริ่มพัฒนาเรื่อยมาจนเกิดเป็นสำนักงานประกันสังคมเมื่อวันที่ 2 กันยายน พ.ศ. 2533 ซึ่งหลักการก็คือจะมีการหักเงินจากฐานเงินเดือน 5% สูงสุดไม่เกิน 750 บาท/เดือน ทั้งนี้ก็เพื่อเป็นการสร้างหลักประกันสังคมสำหรับพนักงานที่มีรายได้ เอาไว้ใช้คุ้มครองลูกจ้างจากการเจ็บป่วยที่เกิดจากการทำงานและนอกเหนือการทำงาน โดยผู้ที่เกี่ยวข้องกับประกันสังคมจะประกอบด้วย ผู้ประกันตน, นายจ้าง และรัฐบาล
– ขึ้นทะเบียนนายจ้าง
เมื่อนายจ้างมีลูกจ้างในกิจการตั้งแต่ 1 คนขึ้นไป นายจ้างมีหน้าที่ต้องยื่นแบบขึ้นทะเบียนนายจ้าง และยื่นแบบแสดงรายชื่อลูกจ้าง หรือแบบขึ้นทะเบียนผู้ประกันตน
– จ่ายเงินสมทบในส่วนของนายจ้าง
นายจ้างผู้ประกันตนและรัฐบาลเป็นผู้จ่ายสมทบเข้ากองทุนประกันสังคม โดยนายจ้างจ่ายสมทบ 5% และรัฐบาลจ่ายสมทบอีก 2.75% จากฐานของเงินค่าจ้าง
– หน้าที่หักค่าจ้างของลูกจ้างเพื่อนำส่งเป็นเงินสมทบ
ทุกครั้งที่นายจ้างจ่ายค่าจ้างให้กับลูกจ้าง นายจ้างจะต้องเป็นผู้หักเงินสมทบในส่วนของลูกจ้างทุกครั้งที่มีการจ่ายค่าจ้าง โดยต้องมีการคำนวณเงินสมทบค่าจ้าง ตามฐานของเงินค่าจ้างขั้นต่ำตั้งแต่ 1,650 บาท แต่ไม่เกิน 15,000 บาท โดยพนักงานจะถูกหักจากฐานเงินเดือน 5%
– หน้าที่รับผิดใช้เงินสมทบในส่วนของผู้ประกันตน
กรณีที่นายจ้างไม่ได้หักค่าจ้างของผู้ประกันตนไว้หรือนายจ้างหักเงินค่าจ้างของลูกจ้างไว้แล้วแต่ไม่ได้นำส่ง หรือส่งไม่ครบจำนวนตามที่หักไว้ จะมีผลต่อนายจ้างและผู้ประกันตน (นายจ้างต้องรับผิดในจำนวนเงินสมทบที่นายจ้างยังมิได้นำส่งกองทุน และเงินเพิ่มของเงินสมทบที่ยังไม่ได้นำส่งเข้ากองทุน)
– นำส่งเงินสมทบ
เมื่อนายจ้างหักเงินค่าจ้างของลูกจ้างไว้แล้ว นายจ้างจะต้องนำเงินสมทบในส่วนของผู้ประกันตนที่นายจ้างได้หักไว้นั้น รวมทั้งเงินสมทบในส่วนที่นายจ้างต้องจ่ายสมทบเข้ากองทุน นำส่งสำนักงานประกันสังคมภายในวันที่ 15 ของเดือนถัดจากเดือนที่หักเงินสมทบไว้